.

11/21/2552

กาลิเลโอ เพราะโลกมีแรงดึงดูด

Dear Galileo poster - หนีตามกาลิเลโอ โปสเตอร์

ปลายศตวรรษที่ 16 เมืองปิซา ประเทศอิตาลี กาลิเลโอ ประกาศผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์ของเขาว่า วัตถุ 2 ชิ้นที่มีรูปทรงเดียวกัน และประกอบขึ้นด้วยมวลสารเดียวกัน จะตกถึงพื้นพร้อมกัน แม้จะมีน้ำหนักไม่เท่ากัน อีกทั้งยังประกาศความเชื่อว่าโลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล การปฏิบัติตัวขัดแย้งกับศาสนจักรเช่นนี้ ทำให้ กาลิเลโอ ถูกจับขัง สิ้นสูญอิสรภาพ และชีวิตก็ตกระกำลำบากนับจากนั้น

ปี 2009 กรุงเทพฯ ประเทศไทย ห่างจากที่เกิดเหตุแรก 1/4 เส้นรอบวงโลก เด็กสาว 2 คนกำลังประสบปัญหาหนักหน่วงที่สุดในชีวิต เชอรี่ (ชุติมา ทีปะนาถ) นักศึกษาชั้นปีสุดท้ายของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ถูกตัดสิทธิ์สอบและต้องพักการเรียนเป็นเวลา 1 ปี ด้วยความผิดที่เจ้าตัวเห็นว่าเล็กน้อย นั่นคือปลอมลายเซ็นอาจารย์ในใบขออนุญาตใช้ห้องเขียนแบบ

นุ่น (จรินทร์พร จุนเกียรติ) สาวร่าเริงแสนงอน เคยท้าเลิกกับแฟนหนุ่ม ตั้ม (ธนากร ชินกูล) มาแล้วหลายครั้ง ทว่า ตั้ม เป็นต้องงอนง้อขอคืนดีกับเธออยู่ร่ำไป แต่ครั้งนี้แตกต่างจากทุกครั้ง ตั้ม ตัดสินใจรับคำบอกเลิกของเธอแต่โดยดี ทั้ง นุ่น และ เชอรี่ ต่างรู้สึกอยากหนีไปให้ไกลจากสถานที่เกิดปัญหา จึงจูงมือกันบินข้ามหลายเส้นรุ้งและอีกหลายเส้นแวง ปลดแอกตัวเองจากแรงดึงดูดของชีวิตทันที

แผนของทั้งคู่นั้นแสนง่าย มุ่งมั่นทำงานบริกร เพื่อเก็บเงินไปท่องเที่ยวให้มากที่สุด เป้าหมายของพวกเธอคือ 3 เมืองใหญ่แห่งยุโรปอย่าง ลอนดอน ปารีส และเวนิส สถานที่สำคัญๆ ถูกหมุดหมายลงในใจของสองสาว ไม่ว่าจะเป็นสโตนเฮนจ์ ทาวเวอร์บริดจ์ หอไอเฟล พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ โคลอสเซียม เรือกอนโดลา และ หอเอนปิซา

ก่อนออกเดินทาง ทั้งคู่ทำสัญญาใจกันไว้ว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ห้ามทิ้งกัน อย่างไรก็ตาม ชีวิตเต็มไปด้วยเรื่องคาดไม่ถึงสารพัด บางครั้งคำสัญญาเป็นมั่นเหมาะก็ถูกสั่นคลอนเสียง่ายๆ เมื่อเจ้าของคำสัญญาอ่อนล้าจากภาระหน้าที่ในชีวิตประจำวัน และบางทีมิตรภาพยาวนานก็แทบถึงกาลแตกหัก ด้วยเหตุผลที่เหมือนจะไม่เป็นเหตุผลว่าเบื่อขี้หน้ากัน

นุ่น ยังคาดไม่ถึงอีกด้วยว่า เธอหนี ตั้ม คนหนึ่งไปไกลถึง 1/4 ของโลก เพียงเพื่อจะไปพบความสัมพันธ์ครั้งใหม่กับอีก ตั้ม (เร แมคโดนัลด์) ส่วน เชอรี่ ก็คาดไม่ถึงว่าความตั้งใจที่จะออกเดินทางให้หลุดพ้นจากกฎโง่ๆ ของโลก กลับทำให้เธอเรียนรู้ว่า ไม่ว่าจะหนีไปไกลแค่ไหน ทุกคนต่างอยู่บนกฎพื้นฐานข้อเดียวกัน นั่นคือเราไม่ใช่ศูนย์กลางของโลก เช่นเดียวกับที่โลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล